พิมพ์สัมผัสไม่มองแป้นพิมพ์ พิมพ์แบบนิ้วจิ้ม ภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร
สวัสดีค่ะ โพสต์นี้เราเจอกันค่ะ
คุณผู้อ่านใช้งานแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์แบบไหนคะ หลายคนพิมพ์คล่อง พิมพ์เร็วเพราะใช้การพิมพ์สัมผัสแบบไม่ต้องมองแป้นพิมพ์ แต่ก็มีหลายคนใช้พิมพ์แบบมองหาตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ก่อน แล้วค่อยใช้นิ้วจิ้มพิมพ์ไป
การใช้นิ้วมือพิมพ์ดีดหรือกดแป้นพิมพ์บนคีย์บอร์ดแบบไม่มองแป้น แบบที่เรียกว่า การพิมพ์สัมผัส ในภาษาอังกฤษใช้คำกริยา “touch-type” (พิมพ์สัมผัส) ค่ะ นิยมเขียนแบบมี hyphen หรือ ขีด –
ส่วนคำนามของ touch-type ก็คือ “touch-typing” หรือ การพิมพ์สัมผัส .. ให้สังเกตว่าจะมีคำว่า “touch” อยู่ คำนี้ใครก็รู้จัก หมายถึง สัมผัส ดังนั้น touch-typing เลยหมายถึง การพิมพ์สัมผัส นั่นเองค่ะ
พอหทัยจะยกตัวอย่างประโยคที่มีการใช้คำกริยา to touch-type และคำนาม touch-typing ให้เป็นไอเดียนะคะ
Can you touch-type? (ถามว่าคุณพิมพ์สัมผัสได้ไหม)
I can touch-type. I learned to touch-type when I was in high school. (พอหทัยพิมพ์สัมผัสได้ค่ะ เคยเรียนสมัยอยู่ ม.ปลาย)
Touch-typing makes my work with computers quicker. (การพิมพ์สัมผัสทำให้การทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์รวดเร็วยิ่งขึ้นค่ะ)
นอกจากวิธี touch-typing แล้ว ยังมีอีกวิธีที่ผู้ใช้แป้นพิมพ์คีย์บอร์ดส่วนใหญ่ที่ไม่สันทัดการพิมพ์สัมผัสจะนิยมทำกัน ก็คือ การใช้นิ้วจิ้มพิมพ์ โดยแบบนี้ต้องมองหาตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ก่อนที่จะใช้นิ้วกดลงไปที่ละตัวอักษร ในภาษาอังกฤษ เรียกวิธีนี้ว่า “hunt-and-peck” ให้สังเกตว่า คำนี้จะนิยมเขียนแบบมี hyphen หรือ ขีด – เช่นเดียวกัน แต่จะมีถึงสอง hyphens โดยในคำว่า hunt-and-peck จะมีคำว่า “hunt” ที่หมายถึง ค้นหา, ตามหา, ล่า กับคำว่า “peck” ที่ใช้พูดถึง การที่นกใช้ปากหรือจะงอยปากจิกขณะที่กำลังกินอาหาร (ออกเสียงว่า “เป็ก” มโนไปก็คล้าย กับเสียงนิ้วกดแป้นพิมพ์ดัง เป็ก เป็ก เป็ก)
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสองวิธี ก็คือ Touch-typing involves using all fingers and thumbs. (การพิมพ์สัมผัสจะเกี่ยวข้องกับการใช้ทุกนิ้ว รวมถึงนิ้วหัวแม่มือด้วย) ขณะที่ The hunt-and-peck method involves using only a few fingers. (การพิมพ์แบบนิ้วจิ้มที่ละนิ้วจะใช้เต็มที่ก็แค่สองสามนิ้วเท่านั้นค่ะ …. แน่นอนว่า Touch-typing is usually faster than the hunt-and-peck method. (การพิมพ์สัมผัสจะไวกว่าการพิมพ์แบบนิ้วจิ้มทีละตัวอักษรค่ะ)
พอได้ไอเดียจาก พอหทัย นะคะ
พอหทัย
เนื้อหา: พอหทัย
เว็บไซต์: www.library-lantern.com
Facebook เพจ: The library Your reference library
เกี่ยวกับ library-lantern.com เราเลือกเขียนเฉพาะหัวข้อที่คุณไม่สามารถหาคำตอบจากแหล่งความรู้ทั่วไปได้
อ่านบทความน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ www.library-lantern.com และเฟสบุ้คเพจ The library
Advertisement Space