การใช้คำว่า notwithstanding ในภาษาอังกฤษและงานกฎหมาย
พูดถึงคำว่า “notwithstanding” (ออกเสียงว่า “น็อท-วิธ-สแตน-ดิง”) … ทุกครั้งที่แนะนำการใช้คำว่า “notwithstanding” ให้กับนิสิตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในไทย ผมจะเทียบเคียงให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า notwithstanding มันก็คือ “despite” หรือ “in spite of” ใช้เหมือนกันทุกสิ่งอย่าง อย่าไปคิดอะไรมากเวลาจะใช้มัน
เราเรียนกันมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมหรือระดับอุดมศึกษาอยู่แล้วว่า คำว่า “despite” กับ “in spite of” มันเป็นคำบุพบท มีความหมายว่า “ทั้ง ๆ ที่” หรือ “แม้ว่าจะมี” แน่นอนว่า เมื่อทั้งสองคำเป็นคำบุพบท คำที่ต่อท้ายจาก despite และ in spite of ต้องเป็นคำนามเท่านั้น
เฉกเช่นการใช้คำว่า notwithstanding ที่ทำหน้าที่เป็นคำบุพบท … เราใช้ despite และ in spite of อย่างไร คำว่า notwithstanding ก็ใช้อย่างนั้นเลย
ผมจะยกตัวอย่างประโยค ทำให้ดูว่า ทั้งสามคำสามารถถูกวางในตำแหน่งเดียวกันได้
Despite the rain, my dad went jogging this morning.
In spite of the rain, my dad went jogging this morning.
Notwithstanding the rain, my dad went jogging this morning.
ทั้งสามประโยคมีความหมายเหมือนกันว่า “แม้ว่าจะมีฝนตก เตี่ยของผมก็ยังออกไปวิ่งจ๊อกกิ้งเมื่อเช้า” อีกทั้งคำว่า despite, in spite of และ notwithstanding ทำหน้าที่เป็นคำบุพบทเหมือนกันในประโยค และตามด้วยคำนาม คือ the rain
สิ่งหนึ่งที่มักจะรบกวนสายตาของผมบ่อยครั้ง เวลาที่ผมเปิด dictionary ให้นักศึกษาดูความหมายของ notwithstanding ก็คือ dictionary มีการให้ตัวอย่างการใช้ notwithstanding ในลักษณะที่นำไปวางหลังคำนามได้ด้วย เช่น ในพจนานุกรมค่าย Oxford ยกตัวอย่าง The bad weather notwithstanding, the event was a great success. หรือของค่าย Cambridge ยกตัวอย่าง Injuries notwithstanding, the team won the semifinal. คือ มันขัดหูขัดตามาก นี่ยังไม่นับที่เกือบจะทุกค่าย (ยกเว้น Longman) ที่บอกว่า notwithstanding เป็นได้ทั้ง preposition และ adverb … มีแค่ค่าย Longman เจ้าเดียวที่บอกว่า เป็น preposition ได้อย่างเดียว
ตลอด 15 ปี ที่ร่างสัญญาภาษาอังกฤษมากกว่า 1,000 สัญญา ผมแทบไม่เคยวางคำบุพบท “notwithstanding” หลังคำนาม (แม้ว่าผมจะเคยเขียนอธิบายวิธีการใช้แบบนี้ใน blog เมื่อหลายปีก่อนก็ตาม)
พูดมาซะยืดยาว เอาเข้าจริง คำว่า notwithstanding มันเป็นทางการและเป็นภาษาเขียนมากเกินกว่าจะมาใช้ในบทสนทาภาษาอังกฤษทั่วไป (ทั้งนี้ขึ้นกับบริบท เนื้อหา และหัวข้อสนทนา)
มีเรื่องนึงแอบงงตัวเอง … ไม่แน่ใจว่า เพื่อนนักกฏหมายท่านอื่น (โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานใน international law firm) เป็นเหมือนกันไหม? เวลาที่พิมพ์คำว่า notwithstanding บนคอมพิวเตอร์ ชอบไปพิมพ์ h หลัง not ด้วย กลายเป็น “nothwithstanding” (X) แล้วจากนั้นก็ค่อยลาก mouse เอา cursor มาวางตรงคำที่พิมพ์ผิด พร้อมคลิกขวา ก่อนจะแก้มันโดยการคลิกคำที่ถูกต้องว่า “notwithstanding” (/) ตามที่ Microsoft Word แสดงไว้ใน dialog box
หมายเหตุก่อนไป … ผมไม่ได้ยกตัวอย่างประโยคใด ๆ ที่มีการใช้คำว่า notwithstanding ในงานสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายต่างประเทศในโพสต์นี้ … เนื่องจากใน Blog ของ The library ผู้อ่านส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใช้ภาษาอังกฤษทั่วไป ส่วนภาษาอังกฤษสำหรับทนายหรือนักกฏหมายต้องไปอีกแพลตฟอร์มของผมที่เป็น Legal English ซึ่งนั่นจะพูดคุยเรื่องการใช้ที่ลึกกว่านี้มาก
เนื้อหา: ไกรวัล ศรีประทักษ์
เว็บไซต์: library-lantern.com
FB เพจ: The library
Your reference library
เกี่ยวกับ library-lantern.com เราเลือกเขียนเฉพาะหัวข้อที่คุณไม่สามารถหาคำตอบจากแหล่งความรู้ทั่วไปได้
อ่านบทความน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ www.library-lantern.com และเฟสบุ้คเพจ The library
Advertisement Space