ภาษาอังกฤษกับทางเลือกในการลงทุน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

พูดถึงการลงทุน หลายคนมีวิธีที่แตกต่างกันออกไปในการทำให้เงินของตัวเองงอกเงย บางคนนำเงินไปฝากธนาคาร  บ้างก็นำเงินไปซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล  ซื้อทอง  บ้างก็นำเงินไปลงทุนซื้อที่ดินแล้วรอให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น 

ผมและเพื่อนๆ หลายคน ชอบการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ  ดังคำพูดที่มักจะได้ยินทางโทรทัศน์ว่า  “ชีวิตคือการลงทุน”  ลองมาดูกันว่าคนไทยเรามี Investment /อิน-เฝ้ส-มึ่นท/ หรือ “การลงทุน” ในรูปแบบอะไรบ้าง   

Savings /เซ้-ฝิงซ/ หรือ “เงินออม” เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนขั้นพื้นฐานที่สุด  ตอนเด็กๆ ผมก็มี deposit /ดี-พ้อ-สิท/ หรือ “เงินฝากธนาคาร” ที่เราไปฝากไว้ใน bank (ธนาคาร) ด้วยวิธีการเปิด bank account /แบ็งค เออะ-เค้าท/ หรือ “บัญชีธนาคาร”  ประเภทของ bank account ก็มีหลายประเภท  เอาแบบง่ายที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น savings account (สังเกตว่าผมจะเติม s ที่ savings) หรือ “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์” นั่นเอง  ภาษาโบราณหน่อยจะเรียก “บัญชีแบบเผื่อเรียก” ซึ่งหมายความว่า “ฝากเงินไปแล้วจะถอนออกเมื่อไรก็ได้ตามอัธยาศัยของผู้ฝากเลย” อีกประเภทของ bank account ก็คงจะเป็นแบบที่ฝากแล้ว ถอนตามอัธยาศัยไม่ได้ แต่ต้องรอให้ครบกำหนดก่อน ถึงจะได้ interest /อิ๊น-ทเร็สท/ หรือ “ดอกเบี้ย” ตามเงื่อนไขเวลาในการฝาก บัญชีประเภทนี้เรียกว่า fixed-deposit account หรือที่เรียกว่า “บัญชีเงินฝากประจำ”  โดยทั่วไป fixed-deposit account จะมีการระบุระยะเวลาตามมาด้วยว่า “เป็นบัญชีฝากประจำแบบกี่เดือน” ยกตัวอย่าง เช่น “เงินฝากประจำ 3 เดือน”  ก็ใช้คำว่า 3-month fixed deposit   “เงินฝากประจำ 6 เดือน” ก็ใช้คำว่า 6-month fixed deposit 

สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนเงินฝากธนาคารทุกคนควรจะทราบ ก็คือ ความแตกต่างระหว่าง savings account กับ fixed-deposit account  หลายคนคงพอจะทราบกันเป็นอย่างดีก็คือ savings account นั้นมี interest rate /อิ๊น-ทเร็สท เรท/ หรือ “อัตราดอกเบี้ย” ต่ำกว่า fixed-deposit account  คำถามก็คือว่า “ทำไม fixed-deposit account ถึงมี interest rate สูงกว่า savings account” เหตุผลง่ายๆ ก็คือ fixed-deposit account (คำว่า fixed /ฟิกซท/ = อยู่กับที่, ไม่ให้เคลื่อนย้าย) ไม่อนุญาตให้ผู้ฝากทำการถอนเงินออกก่อนกำหนดหากต้องการรับดอกเบี้ยตามเงื่อนไข  ขณะที่ savings account อนุญาตให้ผู้ฝากทำการถอนเงินเอาไปใช้เมื่อไรก็ได้  แต่ยังคงได้รับ interest (ดอกเบี้ย) ตามจำนวนเงินฝากและเวลาที่เงินฝากอยู่กับธนาคาร  interest rate ของ fixed-deposit account จึงสูงกว่า savings account เพื่อตอบแทนความอดทนของผู้ฝากที่ยอมเอาเงินมาแช่แข็งไว้กับธนาคารตามระยะเวลาที่กำหนด  

พูดถึง bank account มาสองประเภทแล้ว  ผมขอพูดประเภทสุดท้ายด้วยเลย จะได้รู้จักกันให้ครบถ้วน นั่นคือ current account /เค้อ-รึ่นท เออะ-เค้าท/ หรือ “บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน” (คำว่า current = กระแสหรือการเคลื่อนไหว ใช้กับน้ำ อากาศ  กระแสไฟฟ้า  สำหรับกรณีนี้ก็พอจะเดาได้ว่า มันคือกระแสเงิน นั่นเอง ตรงตัวดีไหมล่ะ)  ลักษณะที่สำคัญของ current account ก็คือ เป็นบัญชีที่โดยทั่วไปจะไม่ได้รับ interest (ดอกเบี้ย)  หลายคนอาจสงสัยว่า “ถ้าไม่มีดอกเบี้ย แล้วจะฝากไว้หาอะไร” คำตอบของคำถามนี้ต้องไปถามพวก business people (นักธุรกิจ) ทั้งหลายแหล่ เพราะ current account นี่แหละที่พวก business people เอาไว้ “เขียนเช็คสั่งจ่าย” หรือภาษาชาวบ้านเรียก “ตีเช็ค” (คำว่า “เช็ค” สะกดเป็นภาษาอังกฤษได้สองแบบ แบบอเมริกัน check หรือแบบบริติช cheque ก็ได้ หมายถึง “แบบฟอร์มที่เราเขียนจำนวนเงิน เพื่อให้ผู้ถือ check นี้นำไปเบิกเงินที่ธนาคารได้ เพื่อเหตุผลในการชำระเงิน แทนที่จะต้องชำระเงินเป็นเงินสดทันที เราจึงมักจะได้ยินคำว่า pay in cash (ชำระเงินสด) กับ pay by check (ชำระโดยเช็ค)”  ด้วยเหตุนี้ คำว่า current account บางครั้งจึงเรียกว่า checking account หรือ cheque account นั่นเอง  เหตุผลง่ายๆ ที่ current account ส่วนใหญ่ไม่ได้รับ interest ก็เพราะว่า เงินที่อยู่ในบัญชีประเภทนี้ต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา (นึกถึงคำว่า current) อันเนื่องมากจากการจับจ่าย ชำระหนี้  ชำระเงินของนักธุรกิจผู้เป็นเจ้าของบัญชี  จึงทำการคิดคำนวณ interest ใน current account ทำได้ยากมาก  

ลองมาดูการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ฟังดูซับซ้อนขึ้น แต่ปัจจุบันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ลงทุนอยู่ และกำลังอินเทรนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ stock investment  หรือ “การลงทุนในหุ้น”   คำว่า “หุ้น” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า stock /สต็อค/ หรือ share /แฌ/ ก็ได้ครับ  ดังนั้น stock price หรือ share price จึงหมายถึง “ราคาหุ้น”   ส่วนคำว่า stock market หรือ share market ก็จะหมายถึง “ตลาดหุ้น” หรือ “ตลาดหลักทรัพย์” นั่นเอง  คำว่า “หลักทรัพย์”  ฟังดูเป็นทางการดี ในภาษาอังกฤษก็มีศัพท์เทคนิคที่ฟังดูเป็นทางการเช่นกันสำหรับคำว่า stock market  เรียกว่า stock exchange /สต็อค อิกซ-เช้งจ/  ดังนั้นชื่อของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเรียกว่า The Stock Exchange of Thailand หรือที่เรียกย่อๆ ว่า SET /เซ็ท/  พอพูดถึง SET ก็ต้องคุ้นหูกับคำว่า SET Index /เซ็ท อิ๊น-เด็คซ/ หรือ “ดัชนีราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์”…เกริ่นคำศัพท์เกี่ยวกับหุ้นมาซะเยอะ ผมขอพากลับมาที่ stock investment ก่อนว่าการลงทุนในหุ้น ได้อะไรเป็นผลตอบแทนบ้าง  

การที่เราสามารถซื้อ stock ของบริษัทหรือธุรกิจหนึ่งๆ ได้ ก็เหมือนกับ “เราซื้อ ownership หรือ ความเป็นเจ้าของกิจการของธุรกิจนั้นๆ”  บางคนอาจจะสงสัยว่า “แล้วใครเขาจะมาขายส่วนของ ownership ในบริษัทตัวเองให้กับคนอื่น”  คำตอบง่ายๆ  หาได้จากตัวอย่างที่ฮือฮาที่สุดใน stock market เมื่อเดือนที่ผ่านมาเมื่อหุ้น “ICHI” ของคุณตัน ภาสกรนที หรือ ”ตัน อิชิตัน”  เสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO ย่อมาจาก Initial Public Offerings และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อหุ้น “ICHI”   เป็นที่ทราบกันว่า “คุณตัน” มีบริษัทผลิตและจำหน่ายชาเขียวบรรจุขวด โดยก่อนหน้านี้บริษัทของคุณตัน เป็นลักษณะ private company /ไพร้-เฝ็ท คั้ม-เพ็อ-นิ/ (บริษัทเอกชน)  แต่พอวันนึง คุณตัน ต้องการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น ก็จำเป็นต้องมีการหาเงินทุนมาเพื่อซื้อโรงงานเพิ่ม ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม จึงตัดสินใจนำหุ้นเข้าจดทะเบียนใน stock exchange โดยการเปิดขาย stock ให้กับ public หรือ “สาธารณชน”  เพื่อระดมเงินทุนจาก small investor /สม็อล อิน-เฝ็ส-เต้อ/ (นักลงทุนทั่วไป, นักลงทุนรายย่อย) นักลงทุนทั่วไปก็เลยสามารถเข้าไปเป็น stockholder /สต็อค-โฮล-เดอะ/ หรือ shareholder /แฌ-โฮล-เดอะ/ (ผู้ถือหุ้น) ของบริษัทของคุณตัน บริษัทของคุณตันจึงเปลี่ยนสถานะจาก private company (บริษัทเอกชน หรือเรียกย่อว่า “บจ”) เป็น public company /พั้บ-บลิค คั้ม-เพ็อ-นิ/ (บริษัทมหาชน หรือเรียกย่อว่า “บมจ”)  

หากนักลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทใดๆ ในตลาดหลักทรัพย์ไม่ทันตอน IPO หรือ “ตอนที่เปิดขายครั้งแรก” ก็ยังสามารถมาซื้อได้อีกภายหลังจากหุ้นเข้าตลาดมาแล้ว ซึ่งทางเทคนิค เรียก secondary market นั่นก็คือ stock market นี่แหละที่นักลงทุนที่มี stock อยู่แล้ว ก็จะมาขายให้กับนักลงทุนที่ยังไม่มี stock หรือที่ต้องการซื้อ stock เพิ่ม ทั้งสองฝ่ายก็มาซื้อขายผ่าน “คนกลาง” ใน stock market ที่เรียกว่า stockbroker /สต็อค-โบร-เคอะ/ หรือ “บริษัทหลักทรัพย์” (นักลงทุนรู้จักกันชื่อย่อว่า “บล”) หากบริษัทมีผลประกอบการที่ดี ผลตอบแทนจากการลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้นก็จะมี สองลักษณะ ลักษณะแรก ก็คือ dividend /ดิฟ-ฝิ-เด็นท/   หรือ “เงินปันผล”  ซึ่งถูกกันไว้ส่วนหนึ่งจาก profit /พร้อบ-ฟิท/ (กำไร) ของบริษัท (profit ของบริษัทนั้น ส่วนหนึ่งเอาไปลงทุนต่อ อีกส่วนนำมาคืนให้ผู้ถือหุ้นในรูปของ dividend)   ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นลักษณะที่สอง ก็คือ capital gain /แค้พ-พิ-เทิ่ล เกน/ หรือ “กำไรจากส่วนต่างของราคา”  พูดง่ายๆ ก็คือ “ซื้อหุ้นที่ราคาถูก แล้วมาขายที่ราคาแพงกว่า”   

ทั้งนี้บางคนอาจสงสัยว่า “แล้วถ้าไม่อยากซื้อ stock เองล่ะ เพราะไม่รู้จะซื้อตัวไหนดี วิเคราะห์ไม่เก่ง หรือไม่มีความรู้มากพอ ต้องทำอย่างไร”  คำตอบง่ายมากครับ ก็ให้ไปซื้อผ่านพวก mutual fund /มิ้ว-ฌวลฟันด/  หรือ “กองทุนรวม” และ equity fund /เอ๊ค-ควิ-ทิฟันด/ หรือ “กองทุนรวมตราสารทุน” (ตราสารทุน หมายถึง หุ้น) โดยจะมี investment company /อิน-เฝ้ส-มึ่นท คั้ม-เพ็อ-นิ/ (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือเรียกย่อว่า “บลจ”) มาขายหน่วยลงทุนของ mutual fund และ equity fund ให้กับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งตัวอย่างชื่อของ mutual fund และ equity fund ที่คุ้นหูกันมากที่สุด ก็เห็นจะเป็น Retirement Mutual Fund หรือที่รู้จักกันว่า RMF และ Long-term Equity Fund หรือที่รู้จักกันว่า LTF  พูดง่ายๆ ก็คือ นักลงทุนเอาเงินให้พวก investment company แลกกับการได้หน่วยลงทุนของ RMF และ LTF มาถือเอาไว้  จากนั้น investment company  ก็จะนำเงินที่ระดมได้จาก small investors ทั้งหมดไปลงทุนในทางเลือกต่างๆ เช่น stock และทางเลือกอื่นๆ ที่จะสามารถทำให้เงินจากนักลงทุนงอกเงยขึ้น หากการลงทุนโดยรวมได้รับผลตอบแทนที่ดี ก็จะทำให้หน่วยลงทุนมีมูลค่าที่สูงขึ้นในอนาคต  นักลงทุนก็สามารถขายหน่วยลงทุนที่ซื้อมาก่อนหน้านี้เพื่อทำกำไรได้ 

มีหลายคนพูดว่า stock market เป็นอะไรที่เย้ายวนมากสำหรับนักลงทุน  แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะลงทุนเอง หรือลงทุนผ่านกองทุน ต้องอย่าลืมประโยคสุดคลาสสิกที่เรามักจะได้ยินกันที่พูดว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”  และที่ผมเล่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงทางเลือกของการลงทุนสองแบบเท่านั้น  ยังมีทางเลือกการลงทุนอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน พันธบัตรรัฐบาล  ทอง  หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์   ซึ่งผมจะนำมาเล่าในแบบที่อธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆ พร้อมกับการสอดแทรกความรู้ภาษาอังกฤษอีกในครั้งต่อๆ ไปครับ  

ขอให้ทุกท่านสนุกและโชคดีกับการลงทุน   

เนื้อหา: ไกรวัล ศรีประทักษ์

เว็บไซต์: www.library-lantern.com

Facebook เพจ: The library

Your reference library


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Bloggers

About ไกรวัล
ทำงานกฎหมาย ร่าง เจรจาสัญญาธุรกิจระหว่างประเทศมานาน 15 ปี เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษและไวยากรณ์ขั้นสูงในงานกฎหมาย รอบรู้เรื่องเอกสารภาษาอังกฤษในงานธุรกิจ เรียบเรียงหนังสือเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า 20 เล่ม เคยชนะเลิศอันดับหนึ่งการคัดเลือกหานักเขียนนิตยสาร I Get English เคยทำคะแนน TOEIC เต็ม 990 ทำ IELTS score 8 โดยเฉพาะ writing part และหนึ่งในสามคนไทยที่สอบได้ใบอนุญาตฟีฟ่าประกอบธุรกิจตัวแทนนักฟุตบอลทั่วโลกครั้งแรก ไกรวัลจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขา International Business (awarded with Distinction) จาก University of Wollongong และสาขาการเงิน จาก University of Newcastle