บอจ.5 ไม่ใช่หลักฐานกรรมสิทธิ์หุ้น!

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ในการดำเนินธุรกิจ หลายคนเข้าใจผิดว่า รายการผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่บริษัทต้องยื่นต่อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) เป็นหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทจำกัด แต่ในความเป็นจริง บอจ.5 เป็นเพียงเอกสารแจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่หลักฐานกรรมสิทธิ์หุ้นที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งความเข้าใจผิดนี้อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นในทางปฏิบัติได้

1. บอจ.5 คืออะไร?

แบบ บอจ.5 เป็นเอกสารที่แสดงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด ณ วันที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น โดยบริษัทต้องยื่นต่อ DBD ปีละครั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ บอจ.5 ทำหน้าที่เพียงให้รัฐทราบว่า ขณะนั้นบริษัทมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร

แต่ปัญหาคือ หลายคนเข้าใจผิดว่า หากชื่อปรากฏใน บอจ.5 แสดงว่าตนเป็นเจ้าของหุ้นในทางกฎหมาย ซึ่งไม่ถูกต้อง

2. บอจ.5 ไม่ใช่หลักฐานกรรมสิทธิ์หุ้น

หลักฐานที่แท้จริงของการถือหุ้นในบริษัทจำกัด คือ สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น” ซึ่งบริษัทต้องจัดทำและเก็บรักษาไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1138

สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นประกอบด้วย:

-รายชื่อผู้ถือหุ้นแต่ละราย

-จำนวนหุ้นที่ถือ

-วันที่รับโอนหุ้น

-รายละเอียดการโอนหุ้น อาจมีแนบสำเนาใบโอนหุ้น และลายเซ็นของผู้โอนและผู้รับโอน รวมถึงสำเนาใบหุ้น ที่เก็บเป็นหลักฐานไว้กับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

ถ้าชื่อของบุคคลใดไม่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น บุคคลนั้นไม่มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมาย แม้จะมีชื่ออยู่ใน บอจ.5 ก็ตาม

3. ปัญหาในทางปฏิบัติ

เข้าใจผิดว่า บอจ.5 ใช้ยืนยันสิทธิผู้ถือหุ้น
หลายกรณีที่พบคือ ผู้ที่ซื้อลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท โดยได้รับการแจ้งว่า ชื่อของตนถูกบันทึกไว้ใน บอจ.5 จึงเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของหุ้นแล้ว แต่เมื่อเกิดข้อพิพาทกลับพบว่า ชื่อของตนไม่ได้ถูกบันทึกในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ทำให้ไม่มีสิทธิเรียกร้องทางกฎหมาย

การโอนหุ้นโดยไม่มีการจดบันทึกในสมุดทะเบียน
ในบางกรณี เจ้าของหุ้นโอนหุ้นให้ผู้อื่นโดยไม่ได้ลงบันทึกในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น แต่แจ้งเปลี่ยนชื่อใน บอจ.5 เท่านั้น เมื่อต้องการบังคับใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น กลับพบว่าไม่มีหลักฐานทางกฎหมายรองรับ

ศาลรับพิจารณา “สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น” เป็นหลัก ไม่ใช่ บอจ.5
มีหลายคดีที่ศาลวินิจฉัยว่า บอจ.5 เป็นเพียงเอกสารแจ้งต่อรัฐ ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในการเป็นเจ้าของหุ้น และใช้ สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นหลักฐานสำคัญในการตัดสินสิทธิของผู้ถือหุ้น

4. วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

ตรวจสอบสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
หากคุณลงทุนในบริษัทใด หรือรับโอนหุ้นมา อย่าดูแค่ บอจ.5 แต่ต้องตรวจสอบ สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ที่สำนักงานของบริษัทด้วย

การโอนหุ้นต้องลงบันทึกให้ถูกต้อง
การโอนหุ้นต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องให้บริษัทลงบันทึกการเปลี่ยนแปลงใน สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น มิฉะนั้น สิทธิของผู้รับโอนจะไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

อย่าหลงเชื่อแค่ บอจ.5
ถ้ามีการโอนหุ้น แต่ชื่อยังไม่ถูกบันทึกในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ให้เร่งดำเนินการแก้ไข มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาทางกฎหมายในอนาคต

หนิง ขอย้ำว่า บอจ.5 เป็นเพียง เอกสารแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ ไม่ใช่หลักฐานยืนยันกรรมสิทธิ์หุ้น หากต้องการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของหุ้น ต้องอ้างอิง สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ตราสารโอนหุ้น และใบหุ้น พิจารณาประกอบกันเท่านั้น

อย่าหลงเชื่อว่ามีชื่อใน บอจ.5 แล้วจะเป็นเจ้าของหุ้นโดยสมบูรณ์
หากเกิดข้อพิพาท ศาลจะดูสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ไม่ใช่ บอจ.5 ดังนั้น หากคุณเป็นนักลงทุน ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการบริษัท ควรให้ความสำคัญกับ สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และตรวจสอบให้แน่ใจว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นได้รับการลงบันทึกอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายในอนาคต

หนิง นันทิชา


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Bloggers

About หนิง นันทิชา
นักกฎหมาย(ยัง)สาว ด้าน Commercial Law ชำนาญการตรวจสอบสัญญาธุรกิจ ศึกษาเรื่องการบริหารทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดมูลค่าเชิงพาณิชย์นานนับ 10 ปี รักในการถ่ายทอดความรู้เทคนิคการอ่านการตีความเงื่อนไขทางธุรกิจให้กับกลุ่มคนที่ไม่ใช่นักกฎหมาย เคยทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในมหาวิทยาลัยรัฐและปัจจุบันดูแลงานกฎหมายในบริษัทมหาชน นันทิชาเป็นศิษย์เก่า Queen Mary, University of London (QMUL) School of Law สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท LLM สาขา Intellectual Property Law และ LLM with Merit สาขา Tax Law และเนติบัณฑิตไทย