สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นที่ใช้ในประเทศไทย Shareholders’ Agreement
การลงทุนในธุรกิจหรือการเข้าซื้อกิจการมักเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นหลายฝ่าย ซึ่งอาจมีเป้าหมายและผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน การมี สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น (Shareholders’ Agreement – SHA) เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้น เพื่อป้องกันข้อพิพาทและรักษาเสถียรภาพของกิจการ ในบทความนี้ เราจะสำรวจแนวทางการใช้ SHA ในประเทศไทย วิธีที่นักกฎหมายใช้ในทางปฏิบัติ ความท้าทายที่ต้องเผชิญ และการปรับใช้ในกรณีที่มีผู้ถือหุ้นรายใหม่
SHA คืออะไร และทำไมมันถึงสำคัญ?
SHA ก็คือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ถือหุ้นในบริษัท เพื่อระบุสิทธิ หน้าที่ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารบริษัทและหุ้นต่าง ๆ ของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นหลายกลุ่มหรือที่เราเรียกว่า การลงทุนร่วมทุน (Joint Venture) การมี SHA ที่ชัดเจนช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การโอนหุ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคนอื่น หรือการตัดสินใจที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น
แนวทางการใช้ SHA ในทางปฏิบัติ
เมื่อเราพูดถึงการใช้ SHA ในประเทศไทย แน่นอนว่า SHA มักจะใช้เพื่อควบคุมบางประเด็นสำคัญที่ผู้ถือหุ้นต้องการให้มันชัดเจนในกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น:
–ข้อจำกัดในการโอนหุ้น: สัญญานี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ถือหุ้นขายหุ้นของตัวเองให้กับบุคคลภายนอกหากไม่ได้รับการอนุมัติจากคนอื่น
–สิทธิในการออกเสียงและการควบคุมบริษัท: กำหนดว่าใครจะมีสิทธิออกเสียงในเรื่องต่างๆ และใครจะเป็นผู้บริหารบริษัท
–การเพิ่มทุนหรือการลดทุน: SHA สามารถบอกเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับการเพิ่มทุน หรือการลดทุน โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรหุ้นที่จะออกใหม่ในกรณีที่มีการระดมทุนเพิ่มด้วยการเพิ่มทุน
สิทธิการถอนหุ้น (ออกจากกิจการ ไม่เป็นผู้ถือหุ้นอีกต่อไป): บางครั้ง SHA จะระบุสิทธิพิเศษที่ให้ผู้ถือหุ้นขายหุ้นให้กับคนอื่นได้ก่อน (Right of First Refusal) หรือ สิทธิในการกำหนดให้มีการขายหุ้นร่วมไปด้วย (Tag-Along Right) & สิทธิในการบังคับให้ขายหุ้น (Drag-Along Right)
ความท้าทายในการนำ SHA ไปใช้
การมี SHA มันดีแน่นอน แต่การนำไปใช้จริง ๆ ก็มีข้อท้าทายที่ต้องคำนึงถึงนะครับ
1. การบังคับใช้: SHA เป็นข้อตกลงที่ทำภายในองค์กร ไม่มีผลตามกฎหมายแบบเดียวกับข้อบังคับของบริษัท ซึ่งถ้าผู้ถือหุ้นไม่ทำตามข้อกำหนดใน SHA จริง ๆ ก็อาจจะไม่มีวิธีบังคับให้เขาปฏิบัติตามได้เหมือนกับกฎหมาย
2.การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น: ถ้ามีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาในบริษัท SHA เดิมอาจจะไม่สามารถใช้ได้ทันที ต้องให้ผู้ถือหุ้นใหม่ลงนามยอมรับสัญญานี้ เช่น Deed of Adherence เพื่อให้สัญญามีผลผูกพันกับทุกฝ่าย
3.ข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับข้อบังคับบริษัทที่มีอยู่ก่อนหน้านี้: ถ้า SHA กำหนดอะไรที่ขัดแย้งกับข้อบังคับบริษัท เช่น เรื่องการออกเสียงหรือโครงสร้างการบริหาร ต้องมีการแก้ไขข้อบังคับบริษัทให้สอดคล้องกัน
SHA กับข้อบังคับบริษัท: ต้องรวมกันไหม?
ในบางกรณี บางบริษัทเลือกที่จะนำเงื่อนไขสำคัญใน SHA มาใส่ใน ข้อบังคับบริษัท (Articles of Association – AoA) เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญ เช่น การจำกัดการโอนหุ้น หรือการกำหนดสิทธิในการออกเสียงของผู้ถือหุ้น ซึ่งทำให้ข้อกำหนดเหล่านั้นมีผลตามกฎหมายโดยตรงและยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องระวังว่าการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับบริษัทต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นและการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ขาดความยืดหยุ่น
สรุป: SHA สำคัญแค่ไหน? สำหรับนักลงทุนที่กำลังจะเข้าลงทุนในธุรกิจ หรือแม้แต่การซื้อกิจการ การทำ SHA นั้นสำคัญมากครับ มันช่วยปกป้องสิทธิ์และความได้เปรียบของผู้ถือหุ้นแต่ละราย และกำหนดกฎเกณฑ์การบริหารธุรกิจให้ชัดเจน แม้ว่าจะมีความท้าทายบ้างในการบังคับใช้และการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น แต่การทำ SHA อย่างรอบคอบจะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ หากทุกคนเข้าใจและทำตามสัญญานี้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้การบริหารกิจการมีความราบรื่นมากขึ้น
ไกรวัล ศรีประทักษ์
เว็บไซต์: library-lantern.com
FB เพจ: The library
Your reference library