มติทั่วไปในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด: นับคะแนนงดออกเสียงด้วยหรือไม่?

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

การประชุมผู้ถือหุ้นเป็นกระบวนการสำคัญในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งมักมีการใช้มติในการตัดสินใจที่สำคัญ หนึ่งในประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความสับสนและปัญหาความตีความ คือวิธีการนับคะแนนเสียง โดยเฉพาะในกรณีของมติทั่วไป ซึ่งมีคำถามที่ว่าในการนับคะแนนเสียงนั้น ควรนับคะแนนเสียงจากผู้ถือหุ้นที่งดออกเสียงด้วยหรือไม่? ปัญหานี้กลายเป็นประเด็นที่บริษัทจำกัดต้องเคลียร์ ในขณะที่บริษัทมหาชนกลับไม่มีปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายของบริษัทมหาชนได้ระบุวิธีการนับคะแนนไว้อย่างชัดเจน ต่างจากบริษัทจำกัดที่ไม่มีการระบุรายละเอียดนี้ในกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความไม่ชัดเจนและความสับสนในการปฏิบัติ

มาตรา 107 ของ พรบ.มหาชน: การนับคะแนนเสียงในมติทั่วไป

ตามมาตรา 107(1) ของ พรบ.มหาชน กำหนดว่า:

“มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นนั้นให้ประกอบด้วยคะแนนเสียงดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีปกติ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและออกเสียงลงคะแนน
ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”

จากข้อความดังกล่าว จะเห็นว่ามติทั่วไป (หรือมติสามัญ) ในการประชุมผู้ถือหุ้นจะถือว่าใช้คะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและออกเสียงลงคะแนน โดย ไม่รวมผู้ที่งดออกเสียง และคำว่า “ซึ่งมาประชุมและออกเสียงลงคะแนน” นั้นหมายความว่า คะแนนที่ใช้ในการนับมีเพียงคะแนนจากผู้ที่ลงคะแนนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเท่านั้น ไม่รวมผู้ที่งดออกเสียง เพราะคะแนนเสียงจากผู้ที่งดออกเสียงไม่ได้มีผลต่อมติ

มาตรา 1194 ของ ป.พ.พ.: การนับคะแนนเสียงในมติพิเศษ

สำหรับมติพิเศษ ซึ่งมักใช้ในกรณีที่ต้องการการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นจำนวนมาก เช่น การเพิ่มทุน การควบรวม หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัท มาตรา 1194 ของ ป.พ.พ. กำหนดว่า:

“การใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำโดยมติพิเศษ ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติในเรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน”

ดังนั้น ในกรณีของมติพิเศษ จะต้องนับคะแนนเสียงจากผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง ไม่ว่าจะเป็นคะแนนเสียงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือแม้กระทั่งผู้ที่งดออกเสียง เพื่อให้ได้การตัดสินใจตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

อธิบายให้เข้าใจ ก็คือ  คำว่า “ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน” ในที่นี้หมายถึง ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงในที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเสียงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือแม้กระทั่งการงดออกเสียง ดังนั้น ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน จะต้องนับหมดรวมถึงผู้ที่งดออกเสียง

การนับคะแนนในมติพิเศษตาม พรบ.บริษัทมหาชน

ในกรณีที่มีการตัดสินใจด้วยมติพิเศษ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ การแก้ไขข้อบังคับบริษัท การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ การเพิ่มทุน การลดทุน เป็นต้น ตาม พรบ.บริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 ก็มีการระบุวิธีการนับคะแนนเสียงในกรณีมติพิเศษเหล่านี้

ยกตัวอย่าง มาตรา 31 ของ พรบ.บริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 กำหนดว่า:

“บริษัทจะแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ หรือข้อบังคับของบริษัทได้เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียง”

ในกรณีนี้ การนับคะแนนสำหรับมติพิเศษในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ การแก้ไขข้อบังคับบริษัท จะต้องนับคะแนนจาก จำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ซึ่งรวมถึงทั้งผู้ที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และผู้ที่งดออกเสียง

นั่นคือ ในกรณีที่มติพิเศษที่ต้องการการอนุมัติ 3 ใน 4 ตามมาตรา 31 ก็เช่นกัน ผู้ถือหุ้นที่งดออกเสียงยังคงถูกนับในการคำนวณคะแนนเสียงเพื่อให้ได้การตัดสินใจตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

ดูอีกตัวอย่าง มาตรา 90 ของ พรบ.บริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 กล่าวว่า:

“ในกรณีที่ข้อบังคับของบริษัทมิได้กำหนดไว้ การจ่ายค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม”

นั่นคือ ในกรณีที่มติพิเศษที่ต้องการการอนุมัติ 2 ใน 3 ตามมาตรา 31 ก็เช่นกัน ผู้ถือหุ้นที่งดออกเสียงยังคงถูกนับในการคำนวณคะแนนเสียงเพื่อให้ได้การตัดสินใจตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

จากทั้งสองมาตรานี้จะเห็นว่า ในกรณีที่ต้องใช้มติพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 ต้องนับ จำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ซึ่งรวมถึงการนับคะแนนจากผู้ที่งดออกเสียง ซึ่งไม่เหมือนกับการนับคะแนนในมติทั่วไป

อธิบายให้เข้าใจ ก็คือ คำว่า  ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียง” จากมาตรา 31 ของ พรบ.บริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 และ คำว่า  “ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมจากมาตรา 90 ของ พรบ.บริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 ในที่นี้ หมายถึง ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงในที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเสียงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือแม้กระทั่งการงดออกเสียง ดังนั้น ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน จะต้องนับหมดรวมถึงผู้ที่งดออกเสียง   และมันคือสิ่งเดียวกับ คำว่า “ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน” มาตรา 1194 ของ ป.พ.พ.

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: การตีความมติทั่วไปใน ป.พ.พ.

ในขณะที่ ป.พ.พ. มีการระบุวิธีการนับคะแนนสำหรับมติพิเศษในมาตรา 1194 แต่กลับไม่มีการกำหนดวิธีการนับคะแนนสำหรับมติทั่วไป ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติของบริษัทจำกัด ว่าควรนับคะแนนเสียงจากผู้ที่งดออกเสียงหรือไม่

กล่าวโดยสรุปแล้ว การนับคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทไทยมีความแตกต่างกันระหว่างมติทั่วไปและมติพิเศษ โดย พรบ.มหาชน กำหนดวิธีการนับคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจนในกรณีของมติพิเศษและมติทั่วไป (ไม่รวมผู้ที่งดออกเสียงในมติทั่วไป) ในขณะที่ ป.พ.พ. มีการระบุวิธีการนับคะแนนสำหรับมติพิเศษแต่ไม่มีการกำหนดสำหรับมติทั่วไป ทำให้เกิดความสับสนและปัญหาตามมาในการตีความและปฏิบัติของบริษัทจำกัด

ไกรวัล ศรีประทักษ์

เว็บไซต์: library-lantern.com

FB เพจ: The library

Your reference library


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Bloggers

About ไกรวัล
ทำงานกฎหมาย ร่าง เจรจาสัญญาธุรกิจระหว่างประเทศมานาน 15 ปี เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษและไวยากรณ์ขั้นสูงในงานกฎหมาย รอบรู้เรื่องเอกสารภาษาอังกฤษในงานธุรกิจ เรียบเรียงหนังสือเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า 20 เล่ม เคยชนะเลิศอันดับหนึ่งการคัดเลือกหานักเขียนนิตยสาร I Get English เคยทำคะแนน TOEIC เต็ม 990 ทำ IELTS score 8 โดยเฉพาะ writing part และหนึ่งในสามคนไทยที่สอบได้ใบอนุญาตฟีฟ่าประกอบธุรกิจตัวแทนนักฟุตบอลทั่วโลกครั้งแรก ไกรวัลจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขา International Business (awarded with Distinction) จาก University of Wollongong และสาขาการเงิน จาก University of Newcastle