10 อันดับคำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย ตามระดับความยาก

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

สวัสดีค่ะ วันนี้หนิง นันทิชา จัดอันดับ 10 คำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย ที่ใช้ในงานกฎหมาย (ขอย้ำ! ใช้ในงานกฎหมายก็พอ อย่าได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะอาจทำให้คนอื่นคุยกับคุณไม่รู้เรื่อง) มาฝากกันนะคะ  ต้องบอกก่อนว่า นี่คืออันดับที่หนิงทำขึ้นเอง  ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันจัดอันดับใด ๆ ในสากลโลก

อันดับ 1 คำว่า notwithstanding   

หนิงให้คำนี้ยากเป็นอันดับหนึ่งเลย เพราะด้วยหน้าตาของคำ ที่แค่เห็นก็สามารถอุทาน “อิหยังวะ” ออกมาได้ทันที  

หากจะอธิบายให้ง่ายจากความยากระดับ 10 เหลือความยากระดับ 9 หุหุ  คำว่า notwithstanding อ่านว่า น็อท-วิท-สแตน-ดิง  ไม่ใช่ น็อต-วิด-สะ-รุด นะคะ นั่นสามี ชมพู่ อารยา ค่ะ  คำนี้ มีความหมายเดียวกับ despite ค่ะ  พูดแบบให้เข้าใจง่ายก็คือ despite ใช้อย่างไร  notwithstanding ก็ใช้แบบนั้นแหละค่ะ  นั่นคือ despite กับ notwithstanding ใช้ในลักษณะเป็นคำบุพบท (ซึ่งต้องตามด้วยคำนาม) วางเป็นส่วนหนึ่งของประโยคที่แสดงความขัดแย้งกับส่วนที่เหลือของประโยค  เช่น Despite the rain, my son is still playing football. (แม้ฝนจะตก ลูกชายก็ยังคงเตะฟุตบอลอยู่กับเพื่อน)  ตรงไหนมี despite เอา notwithstanding ไปวางแทนได้เลย ก็จะกลายเป็น Notwithstanding the rain, my son is still playing football.    แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ในชีวิตประจำวัน คงไม่มีใครใช้คำว่า notwithstanding เว้นเสียแต่คนที่ใช้มีประสาทผิดปกติ  หนิงจะยกตัวอย่างการใช้ notwithstanding แบบนักกฎหมายให้เข้าใจกันมากขึ้น  เช่น

Notwithstanding the expiration of this Agreement, the confidentiality obligations under this Agreement shall survive for a period of 3 years thereafter. (แม้สัญญานี้จะหมดอายุลง  หน้าที่ในการรักษาความลับจะยังคงอยู่ต่อไปอีก 3 ปีหลังจากสัญญาหมดอายุ)      

อันดับ 2 คำว่า afford

หนิงให้คำนี้ ยากเป็นอันดับ 2 เพราะในสัญญาภาษาอังกฤษหรือเอกสารกฎหมาย จะใช้คำว่า afford ในความหมายที่ต่างจากความหมายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน   เราทราบกันดีว่า คำกริยา afford มีความหมายว่า สามารถจับจ่ายใช้สอยได้, มีเงินซื้อได้ เช่น  I’m sure I can afford a new car on my salary. (ฉันมั่นใจว่าฉันจะซื้อรถใหม่/ผ่อนรถใหม่ได้ด้วยเงินเดือนของฉันนี่แหละ)  แต่การใช้คำว่า afford ในงานกฎหมาย จะใช้ในความหมายว่า give, provide (= จัดหา)  ลองดูตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น  ขอแบบง่ายก่อนนะ เช่น This seat will afford me an uninterrupted view of the stage. (ที่นั่งตรงนี้จะให้ฉันได้เห็นเวทีแบบไม่มีใครมารบกวนสายตา)   ไหนขอแบบยากขึ้นหน่อย เช่น This will afford the customer the opportunity to participate in the litigation. (นี่จะเป็นการให้โอกาสกับลูกค้าในการเข้าร่วมดำเนินคดีตามกฎหมาย)

อันดับ 3 คำว่า save

เช่นเดียวกับอันดับ 2   คำว่า save ในอันดับ 3 นี้ มีการใช้ในงานกฎหมายที่แตกต่างจากการใช้ในชีวิตประจำวัน  ทุกคนทราบดีว่า คำว่า “save” มันเป็นคำกริยา เช่น Thank you for saving my money. (ขอบคุณที่ทำให้ฉันประหยัดเงินไปได้) You save my life. (คุณช่วยชีวิตฉัน)  แต่ถ้า save ไปปรากฏในสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายเวอร์ชันภาษาอังกฤษแล้วหละก็ คำว่า save จะกลายเป็นคำบุพบทที่มีความหมายเดียวกับคำว่า except (= ยกเว้น) นั่นเอง   ลองดูตัวอย่าง เช่น This fee covers everything save dinner. (การชำระเงินนี้ครอบคลุมทุกอย่างยกเว้นอาหารเย็น … อาหารเย็นต้องซื้อทานเองนะคะ)

อันดับ 4 คำว่า render

คำนี้จะว่ายากก็ยาก จะว่าไม่ยากก็ไม่ยาก สำหรับคำว่า render  ที่หนิงมองว่ายาก เพราะในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ค่อยมีใครใช้กัน  จริง ๆ แล้ว คำกริยา render มันก็คือ provide หรือ give (=จัดหา หรือ ให้) นั่นเอง  ในทางธุรกิจหรือทางกฎหมาย ผู้ให้บริการจะเป็นฝ่าย render บริการให้กับผู้รับบริการ  หรือจะพูดว่า บริการมันถูก render กับผู้รับบริการ ก็ได้เช่นกัน  ลองดูตัวอย่างประโยคให้เข้าใจมากขึ้น เช่น I received a bill for services rendered. (ฉันได้รับใบแจ้งหนี้สำหรับบริการที่ถูกจัดหามา)  นอกจากนี้ คำกริยา render ยังใช้ในอีกความหมาย ก็คือ ทำให้อยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง เช่น The explosion rendered villagers unconscious. (แรงระเบิดทำให้ชาวบ้านหลายคนหมดสติ)

อันดับ 5 คำว่า forthwith

คำว่า forthwith (ออกเสียงว่า “ฟอธ-วิธ”)  มีความหมายเดียวกับ immediately (=ทันทีทันใด)  เช่น This new price will take effect forthwith. (ราคาใหม่นี้จะมีผลทันที)  มาดูการใช้ในบริบทนิติกรรมสัญญาบ้าง เช่น The party who gives termination notice shall have the right to terminate this agreement forthwith upon delivery of such notice. (คู่สัญญาฝ่ายที่ส่งคำบอกกล่าวเลิกสัญญาจะมีสิทธิยกเลิกสัญญานี้ได้ทันทีที่ส่งคำบอกกล่าวนั้น)

อันดับ 6 คำว่า deem

คำกริยา deem เป็นอีกคำหนึ่งที่ไม่ค่อยพบในบทสนทนาภาษาอังกฤษทั่วไป  มีใช้แต่ในกฎหมายและเอกสารธุรกิจ  คำนี้ใช้ในความหมายว่า “ถือว่า” หรือ “มองว่า” หรือ “เห็นว่า” หรือ “พิจารณาแล้วเห็นว่า”  เช่น  The company will take whatever action it deems necessary. (บริษัทจะดำเนินการใด ๆ ที่เห็นว่าจำเป็น)   This area has now been deemed unsafe. (พื้นที่บริเวณนี้ถูกมองว่าไม่ปลอดภัย)  This act was deemed to break the law. (การกระทำนี้ถือว่าทำผิดกฎหมาย)

อันดับ 7 คำว่า hereby, hereunder, herein

โอ้ ขุ่นแม่ขา แปลว่าอะไรคะเนี่ย?   นี่คือ กลุ่มคำที่พบเจอบ่อยที่สุดในสัญญาภาษาอังกฤษ  บางครั้งหนิงก็แอบเคืองคนคิดประดิษฐ์คำพวกนี้เหมือนกันว่าขอแบบง่ายๆ มิได้หรือไงคะ?   กลุ่มคำว่า hereby, hereunder, herein จะสังเกตว่า ทุกคำมี here (อยากกระแทกเสียงแรงเกินไป เดี๋ยวจะกลายเป็นคำด่า)  วิธีการแปล ไม่ได้ยากอย่างที่คิด พอเห็น here มันจะแทนด้วยคำว่า เอกสารนี้ สัญญานี้ เช่น this document, this agreement, this contract แล้วเอาคำบุพบทด้านหลัง (by, under, in) มาไว้ข้างหน้าเวลาแปลความหมาย 

ดังนั้น คำว่า hereby จึงหมายถึง by this agreement / by this letter (โดยสัญญาฉบับนี้ /โดยจดหมายฉบับนี้)   คำว่า hereunder จึงหมายถึง under this agreement / under this contract (ภายใต้สัญญาฉบับนี้) คำว่า herein จึงหมายถึง in this agreement / in this document (ในสัญญาฉบับนี้ / ในเอกสารฉบับนี้)    

อันดับ 8 คำว่า occasion

ยากยังไงนิ? ก็หมายถึง โอกาส, จังหวะ ไม่ใช่รึ?   หนิงจัดอันดับคำนี้ไว้ เพราะมันไม่ได้เป็นคำนามอย่างที่ว่า  แต่ในบริบทที่เป็นทางการหรือบริบทกฎหมาย   คำว่า occasion สามารถเป็นคำกริยา ที่มีความหมายว่า cause (=ทำให้เกิดขึ้น, เป็นสาเหตุให้เกิด)  ลองดูตัวอย่างการใช้คำกริยา occasion ให้เข้าใจมากขึ้น เช่น This economic crisis occasioned the loss of thousands of jobs. (วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ทำให้คนหลายพันต้องตกงาน)   There are conditions that can occasion change. (มีหลายเงื่อนไขที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้)  นอกจากนี้ เมื่อทราบแล้วว่า คำกริยา occasion มีความหมายเดียวกับคำว่า cause  และเมื่อคำว่า cause เป็นได้ทั้งคำกริยาและคำนาม  ก็จะมีการใช้คำนาม occasion ในความหมายว่า เหตุผล, สาเหตุ ได้เช่นกัน  ลองดูตัวอย่างนี้ I have no occasion to sue for damages. (ฉันไม่มีเหตุที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย)

อันดับ 9 คำว่า construe

ใครเคยเห็นคนใช้คำนี้ในชีวิตประจำวันบ้างคะ?  หนิงไม่ค่อยเห็นนะ  หนิงเลยจัดคำนี้ติดอันดับด้วย คำนี้มันมีความหมายเหมือน understand (=เข้าใจ)  สำหรับในบริบทของกฎหมาย มักจะมีการพูดประมาณว่า ถูกเข้าใจว่าเป็น ….. , ถูกมองว่าเป็น ….   ตัวอย่างการใช้ เช่น These comments were construed as sexist. (ความเห็นพวกนี้ได้ถูกเข้าใจว่าเหยียดเพศ)   This term can be construed in different ways. (คำนี้ถูกเข้าใจไปในหลายความหมายหลายทางเลย)

อันดับ 10 คำว่า force majeure

อันดับที่ 10  หนิงขอเลือกคำว่า force majeure  คำนี้แค่เห็นตัวสะกด ก็ไม่รู้จะออกเสียงอย่างไรแล้ว  คำนี้ออกเสียงว่า “ฟอร์ซ-มา-เฌอ” หรือ “ฟอร์ซ-มา-เจอ” พยางค์ท้ายต้องทำปากบึนบวมหน่อย  ความหมายของ force majeure ก็คือ เหตุสุดวิสัย  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกินการควบคุมและไม่สามารถคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้   ตัวอย่างการใช้  The company is considering activating the force majeure clause to demand money back. (บริษัทกำลังพิจารณาจะใช้เงื่อนไขเหตุสุดวิสัยเพื่อขอเงินคืน)

จบไปแล้วกับ 10 อันดับคำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมายที่ยากจริงอะไรจริงในมุมมองของหนิง  ยากไหมคะ?  หากใครมี 10 อันดับที่ยากกว่า 10 อันดับของหนิง  อย่าลืมแชร์เป็นความรู้ให้กับหนิงและคนอื่น ๆ ด้วยนะคะ

หนิง นันทิชา


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Bloggers

About หนิง นันทิชา
นักกฎหมาย(ยัง)สาว ด้าน Commercial Law ชำนาญการตรวจสอบสัญญาธุรกิจ ศึกษาเรื่องการบริหารทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดมูลค่าเชิงพาณิชย์นานนับ 10 ปี รักในการถ่ายทอดความรู้เทคนิคการอ่านการตีความเงื่อนไขทางธุรกิจให้กับกลุ่มคนที่ไม่ใช่นักกฎหมาย เคยทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในมหาวิทยาลัยรัฐและปัจจุบันดูแลงานกฎหมายในบริษัทมหาชน นันทิชาเป็นศิษย์เก่า Queen Mary, University of London (QMUL) School of Law สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท LLM สาขา Intellectual Property Law และ LLM with Merit สาขา Tax Law และเนติบัณฑิตไทย